วันพฤหัสบดีที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

ภูมิปัญาท้องถิ่นจังหวัดเชียงใหม่ ร่มกระดาษสาไม่เลือนลางไปตามกาลเวลา


จากลำไผ่ไหวเอนส่งเสียงเอียดออดยามต้องลมแรงมาเป็นก้านร่ม และโครงร่ม กระดาษสาซื่งทำมาจากเปลือกไม้หุ้มต้น รวมกันเป็นร่มกระดาษสา ที่ซึ่งทอดเงากันแดดฝนมานานนับศตวรรษ ด้วยคุณค่าและเอกลักษณ์อันงดงาม ร่มกระดาษสาบ่อสร้างจึงเป็นมรดกแผ่นดินที่ชาวเชียงใหม่ทุกคนหวงแหนและภาคภูมิใจ การทำร่มกระดาษสาบ่อสร้าง อำเภอสันกำแพง นี้มีกรรมวิธีผลิตที่ค่อนข้างซับซ้อน ที่สืบทอดกันมาจากความคิดค้นสร้างสรรค์ตามภูมิปัญญาท้องถิ่นอันยาวนาน สืบทอดมีความเป็นมาและวิวัฒนาการจนมาเป็นร่มกระดาษสาที่เราได้เห็นในปัจจุบัน เอกลักษณ์ของร่มกระดาษสานี้ ก็คือกรรมวิธีในการผลิตต้องอาศัยความชำนาญ และฝีมืออย่างสูง อีกทั้งฝีมือในการแต่งแต้มลวดลายอันงดงามเป็นเอกลักษณ์ด้วย "บ่อสร้างกางจ้อง" คำว่า จ้อง นี้เป็นภาษาเหนือแปลว่าร่ม ซึ่งมีการใช้จนติดปากดังเช่นในเพลงยอดนิยมของ ทอม ดันดีเลยทีเดียว "สาวน้อยกางจ้อง" นี้ก็หมายถึง สาวสวยเชียงใหม่ในชุดผ้าไหมผื้นเมือง กางร่ม ที่ปรากฎกายให้เห็นในขบวนแห่งและงานต่าง ๆ ของเชียงใหม่ รวมทั้งอยู่ในภาพโปสเตอร์ต่าง ๆ จนกลายเป็นสัญลักษณ์ของถิ่นไทยงามไปแล้ว
ส่วนประกอบสำคัญ
ส่วนประกอบสำคัญของร่มกระดาษสานั้นมีอยู่หลายอย่างด้วยกัน ได้แก่
- หัวร่มหรือกำพู คือ ส่วนที่อยู่บนสุดของคันร่ม ทำด้วยไม้เนื้ออ่อน
- ตุ้มร่ม คือ ส่วนที่ประกอบกับซี่ร่มสั้น อยู่ด้านล่าง มีลักษณะเดียวกับหัวร่ม
- ซี่ร่ม แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ซี่ร่มสั้นและซี่ร่มยาว จัดเป็นส่วนประกอบที่สำคัญที่สุดของร่ม โดยซี่ร่มสั้นเป็นส่วนที่อยู่ติดกับตุ้มร่ม ทำหน้าที่เป็นตัวค้ำยันซี่ร่มยาว ร่มจะหุบหรือการได้ก็ขึ้นอยุ่กับซี่ร่มนี้เอง ซึ่งจะนำมาประกอบกับหัวร่มด้วยการใช้เชือกมัด ส่วนของซี่ร่มนี้ใช้ไม้ไผ่ทำเนื่องจากไม้ไผ่สามารถนำมาตัดซอยเป็นซี่เล็ก ๆ ได้ง่าย
- คันร่ม คือ ส่วนที่เป็นด้ามใช้สำหรับถือ ตรงด้านบนใกล้ ๆ ตุ้มร่มที่ประกอบติดกับซี่ร่มสั้นมีลวดสลักในรูสำหรับยึดซี่ร่มไม่ให้หุบลงเวลากางออกและเมื่อกดลวดสลักลงกลับในรู ร่มก็จะหุบเพราะตุ้มร่มจะรูดลงมา ส่วนของคัดร่มนี้ทำด้วยไม้ไผ่หรือไม้เนื้ออ่อนชนิดอื่น
- กระดาษสาสำหรับปิดร่ม คือ ส่วนสำคัญที่ใช้สำหรับกันแดดกันฝน
อุปกรณ์สำคัญ
ปัจจุบันมีการนำกระดาษจีนสีน้ำตาลมาใช้แทนกระดาษสา เนื่องจากต้นทุนการผลิตถูกกว่ากระดาษสามาก ทั้งยังไม่ต้องมานั่งเขียนลายเพราะพิมพ์ลายมาจากโรงงานผลิตอยู่แล้ว แต่ถึงอย่างไรก็ไม่สวยงามและดูละเอียดลออกเท่ากระดาษสา
อุปกรณ์ในการทำร่มกระดาษสามีอยู่มากมายอย่างด้วยกันดังนี้
- ไม้ไผ่ สำหรับนำไปทำซี่ร่มต้องเลือกไม้ไผ่ที่มีเนื้อไม้หนาไม่น้อยกว่า 0.5 เซนติเมตร ปล้องไม้ไผ่ต้องยาวกว่า 60 เซนติเมตร คือ ต้องใช้ไม้ไผ่แก่ที่มีอายุมากกว่า 2 ปีขึ้นไป เพราะเมื่อแห้งแล้วเนื้อไม้จะหดตัวน้อย ตัวมอดก็ไม่ค่อยมากัดกิน
- ไม้เนื้ออ่อน อาทิ ไม้ส้มเห็ดไม้โมกมัน ไม้ตะแบก ฯลฯ สำหรับทำร่มและตุ้มร่ม หรืออาจใช้ทำคันร่มก็ได้
- กระดาษปิดร่ม เช่น กระดาษสา กระดาษจีน หรือกระดาษเนื้อนิ่มแต่ถึงอย่างไรก็ต้องใช้กระดาษสาปิดชั้นแรกก่อน
- น้ำยางตะโกหรือน้ำยางมะค่า สำหรับติดกระดาษสาลงทับซี่ร่ม
- น้ำมันยาง ใช้สำหรับทาทับกระดาษให้ทนแดดทนฝน อุดรูรั่ว (ถ้ามี) บนเนื้อกระดาษ ปัจจุบันที่บ่อสร้างเปลี่ยนมาใช้น้ำมันบะหมื้อหรือที่คนจีน เรียกว่า น้ำมันตังอิ๊วแทน
- น้ำมันมะเดื่อ สำหรับทากระดาษสาบริเวณหัวร่มให้เกิดความเหนียวทนทาน
- สีน้ำมัน ใช้สำหรับแต่แต้มสีสันบนกระดาษปิดร่มและพู่กัน สำหรับเขียนสี
- น้ำมันก๊าด สำหรับผสมสี
- ด้ายดิบ ใช้สำหรับร้อยประกอบส่วนต่าง ๆ ของร่ม โดยต้องนำมากรอเป็นเส้นและตีควบเป็นเกลียวตามขนาดที่ต้องการ
- ใบลาน ใช้สำหรับทำปลอกสวมหัวร่ม อาจใช้ใบตาลหรือกระดาษหนา ๆ ก็ได้
- ตอกไม้ไผ่ ใช้สำหรับทำห่วงรัดร่ม โดยนำมาขดเป็นวงกลมและนำกระดาษสามาพันรอบ ๆ ชุดบด้วยน้ำยางกะโกแล้วตากแดดจนแห้ง ห่วงรัดร่มนี้ใช้สำหรับรัดร่มเวลาหุบ
- เส้นหวายขนาดเล็ก ใชัพันตรงปลายคันร่มด้านล่างสำหรับเป็นที่จับใช้เฉพาะกับคันร่มที่เป็นไม้ไผ่ ถ้าใช้ไม้เนื้ออ่อนทำคันร่มก็จะกลึงคันร่มให้มีที่ถือไปในตัว โดยไม่ต้องใช้เส้นหวายพันอีกชั้นหนึ่ง
- สว่าน ใช้สำหรับเจาะรูซี่ร่ม
- เครื่องกลึง มีทั้งเครื่องกลึงไม้แบบโบราณและแบบปัจจุบันที่เป็นมอเตอร์ ใช้สำหรับกลึงส่วนหัวร่มและตุ้มร่ม
- มีด ใช้สำหรับเหลาคมไม้ไผ่ ควรใช้มีดคนที่จับถนัดมือ
การทำร่มกระดาษสาต้องอาศัยความชำนาญและฝึกปรือฝีมือมากพอสมควร เพราะกรรมวิธีในการทำแต่ละขั้นนั้นค่อนข้างพิถีพิถันละเอียดลออเรียกว่าคนใจร้อน ชอบทำอะไรบุ่มบ่าม จะไม่มีโอกาสหยิบจับสร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรมประเภทนี้ได้เลย เคยมีคนจำนวนมากต้องหันหลังให้กับการทำร่มกระดาษ เพราะไม่มีความมานะอดทนเพียงพอ

ไม่มีความคิดเห็น: